มารู้จัก “จดหมาย” (Cover Letter) กันบ้าง จดหมายนำเหมือนกับจดหมายแบบเป็นทางการที่เคยเห็นทั่วไป มีชื่อและที่อยู่ผู้สมัคร วันที่เขียน ชื่อหรือตำแหน่งของผู้มีอำนาจในการพิจารณาใบสมัคร ส่วนใหญ่มักเป็นตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล ชื่อบริษัท เนื้อหาของจดหมาย และลายมือชื่อผู้สมัคร จดหมายนำควรมีเพียง 1 หน้า ห้ามมากกว่านี้ คุณไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดต่างๆ มากเกินไป เพราะข้อมูลทุกอย่างที่คุณอยากบอกให้บริษัทรู้จะอยู่ใน Resume ทั้งหมด

แล้วจดหมายนำต้องมีรายละเอียดจำเป็นอะไรบ้างที่ทำให้ใบสมัครของคุณผ่านการพิจารณาง่ายขึ้น?…..

ชื่อ – นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้อย่างน้อย 2 เลขหมาย (ควรเรียงลำดับจากติดต่อสะดวกมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด) และตำแหน่งที่สมัคร ทุกจุดที่พูดถึงควรเน้นตัวหนาหรือขีดเส้นใต้เพื่อให้ สังเกตได้ชัดเจน เพราะจดหมายนำจะเป็น เอกสารใบแรกสุดในหลักฐานสมัครงานของคุณ แล้วอย่าลืมลงลายมือชื่อกำกับบนชื่อของคุณในตอนท้ายของจดหมายด้วยล่ะ หลาย คนเขียนหรือพิมพ์จดหมายเสร็จ แล้วรีบใส่ซองทันที ลืมลงลายมือชื่อ แสดงให้เห็นถึงความไม่ละเอียดรอบคอบ ฉะนั้น อย่าทำ อย่าทำ….
อ้อ!!! สิ่งที่ไม่น่าให้อภัยอีกอย่างที่พบบ้างประปรายในจดหมายนำคือชื่อบริษัทผิด ถ้าเป็นแค่การสะกดผิด คงไม่มีใครว่าอะไรคุณได้ แต่ถ้ามันผิดบริษัทเนี่ย…คุณจะรับคนนี้เข้ามาทำงานไหม ลองถามตัวเองดู
ไม่ว่าคุณจะเขียนจดหมายนำและ Resume ด้วยลายมือหรือพิมพ์ก็ตาม ขอให้ใช้ A4 ทั้งหมด รวมทั้งสำเนาหลักฐานประกอบอื่นๆ ด้วย จะทำให้จดหมายสมัครงานของคุณดูสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย และน่าอ่านมากขึ้น ส่วนสีของกระดาษควรเป็นสีขาวดีที่สุด ถ้าไม่มี อนุโลมให้เป็นสีอ่อนๆ ไม่มีลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น
พึง ระลึกไว้เสมอ คุณไม่ได้ส่งงานศิลปะหรือเข้าปกรายงานให้อาจารย์ประจำชั้น จึงไม่จำเป็นต้องใส่ลวดลายหรือตกแต่งมากมายนัก เว้นแต่คุณสมัครงานในตำแหน่งสถาปนิก กราฟิก วิศวกร ซึ่งอาจจะต้องมี Portfolio แสดงให้เห็นผลงานที่เคยทำประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมควบคู่กับใบ สมัคร ถ้าอย่างนั้นคุณสามารถสร้างพรสวรรค์ Portfolio ได้ตามจินตนาการโดยไม่มีขีดจำกัดเพราะนั่นคือธรรมชาติงานของคุณ แต่ถ้าสมัครตำแหน่งทั่วไป ขอย้ำ “ไม่จำเป็น” ให้ได้อย่างมากแค่พิมพ์สีในบางจุด บางคำที่ต้องการดูเน้นและดูแล้วและเหมาะสมเท่านั้น ไม่ใช้สีสันมากมายจนตาลาย ไม่รู้ว่าเขียนมาสมัครงานหรือเขียนมาขอความรักกันแน่
ขออีกนิด สำหรับ Resume และจดหมายนำ คุณควรทำเก็บไว้ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อจะเลือกใช้ตามความเหมาะสม หากประกาศรับสมัครงานเป็นภาษาไทยให้ใช้ฉบับภาษาไทยส่งไป แต่ถ้าประกาศรับสมัครงานเป็นภาษาอังกฤษ ก็ให้ใช้ฉบับภาษาอังกฤษ เท่านี้เองไม่เห็นยากเลย
รูปถ่าย…..ที่ไม่ใช่แค่การถ่ายรูป

รูปถ่าย หลักฐานประกอบการสมัครงานอีกอย่างที่คุณควรใส่ใจ เมื่อ Resume คือตัวแทนของคุณ รูปถ่ายก็คือตัวแทนของหน้าตาคุณนั่นเอง จำนวนรูปถ่ายที่ต้องส่งไปในกรณีที่ไม่ได้ระบุจำนวนไว้คือ 1 รูป หรือ 2 นิ้วก็ได้ (แต่ถ้าในประกาศรับสมัครงานระบุจำนวนไว้ คุณก็ต้องส่งตามนั้น) จะติดกาวหรือแสกนรูปวางลงไปใน Resume ก็ได้ ตำแหน่งวางที่เหมาะสมแก่การมองคือ มุมบนขวา อ๊ะ อ๊ะ…อย่าเผลอใส่รูปถ่ายไปในซองเฉยๆ โดยไม่ได้ติดกับเอกสารใดๆ นะ เพราะอาจทำให้มันตกหล่น หรือหายได้เมื่อซองถูกแกะ
รูปถ่ายสีจะดูดีกว่ารูปถ่ายขาวดำ…. แต่ถ้าคุณมั่นใจว่าตัวเองถ้าคิดคุณถ่ายรูปขาวดำแล้วดูดี คมเข้ม คมขำมากกว่า ก็ไม่ขอขัดศรัทธาแต่อย่างใด ขอเพียงอย่างเดียว คุณไปคิดมาซิว่าจะทำอย่างไรให้รูปถ่ายออกมาดูดีและใกล้เคียงตัวจริงของคุณ มากที่สุด ถ้าคิดคนเดียวไม่ออก ลองไปปรึกษากับช่างที่ร้านถ่ายรูปดูก็ได้
เรื่อง นี้กลายเป็นปัญหาสำคัญไปแล้วในยุคดิจิทัล เพราะแทบจะหาความสมจริงไม่ได้เลย บางคนถ่ายออกมาสวย หล่อเวอร์เกินความจริงไป 500% ตอนเห็นในใบสมัครคาดหวังไว้อย่างสูงราวตึก 10 ชั้น แต่พอเห็นตัวเป็นๆ ลดลงมาเหลือแค่ชั้นครึ่ง ผิดหวังเอามากๆ โดยเฉพาะที่ต้องใช้หน้าตาเป็นส่วนประกอบสำคัญ อย่างประชาสัมพันธ์ ลูกค้าสัมพันธ์ หรือพนักงานต้อนรับ นี่สิที่เป็นปัญหา
เทคโนโลยี สมัยนี้ช่วยได้เยอะจนน่ากลัว รีทัสจนไม่เหลือเค้าความจริง นี่ถ้าแจ้งความข้อหาปลอมแปลงหลักฐานสมัครงาน ตำรวจคงหาว่าฉันบ้าแน่ๆ ให้ทำอย่างไรล่ะ ในเมื่อรูปถ่ายรูปเดียวกลับกลายเป็นอุปสรรคในกระบวนการสรรหาของบริษัทได้ เหมือนกัน เสียเวลาและทุกข์ใจไม่น้อยนะกับการที่ต้องทนนั่งสัมภาษณ์งานผู้สมัครที่ไม่ ผ่านด่านแรกที่เห็นหน้า ก็ตำแหน่งนี้เขาใช้หน้าตาเป็นใบเบิกทางนี่ พี่ไม่ได้ตั้งใจจะแกล้งน้องเลยนะ….
มาดูอีกขั้ว รายนี้มาแบบลองใจ ประมาณอยากรู้ว่าหน้าตาอย่างฉันจะได้เรียกสัมภาษณ์หรือเปล่า แต่คุณสมบัติฉันดีนะ เธอคงอยากพิสูจน์ว่าบริษัทให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน ระหว่างหน้าตาพื้นๆ กับคุณสมบัติคับแก้วของเธอ อย่าให้พูดเลยว่าหน้าตาในรูปเป็นอย่างไร จินตนาการหน้าคนที่ไม่ได้ ถ่ายทุกข์มาหลายวันละกัน จะเห็นภาพได้ชัดขึ้น ฉันเห็นว่าคุณสมบัติของเธอดีและเหมาะสมกับตำแหน่งทุกอย่าง แม้หน้าตาในรูปทำให้ลำบากใจอยู่บ้าง แต่คิดว่าตำแหน่งที่ไม่ต้องติดต่อกับคนอื่นๆ มากนัก หน้าตาอย่างนี้คงไม่เป็นอุปสรรสำคัญอะไรกับการทำงานของเธอ
แล้ว วันที่รอคอยก็มาถึง ฉันลงไปเชิญเธอขึ้นมาสัมภาษณ์ มองหาอยู่นานจนคิดว่าเธอหนีกลับบ้านไปแล้วเสียอีก เลยลองเรียกชื่อดู ปรากฏ…..เธอยังมีตัวตนอยู่ตรงนั้น ฉันหันขวับไปตามเสียง เห็นสาวน้อยหน้าหวานคนหนึ่งเงยหน้าจากการกรอกใบสมัครส่งยิ้มมาให้ ฉันย้ำชื่ออีกครั้งหนึ่งเพื่อให้แน่ใจ และคำตอบก็เหมือนเดิม หน้าตาอย่างนี้น่าจะให้ไปทำตำแหน่งลูกค้าสัมพันธ์ แทนคนที่มาสัมภาษณ์เมื่อวันก่อนเสียจริง
จากที่เล่ามาให้ฟัง ฉันไม่ได้ต้องการอะไรเลย นอกจากขอให้หลักฐานประกอบการสมัครงานทุกอย่างเป็นของจริง หรือใกล้เคียงของจริงก็เป็นอันใช้ได้ ถ้าพรุ่งนี้ต้องไปถ่ายรูปเพื่อใช้สมัครงาน ขอให้ลองปรึกษากับช่างประจำตัวของคุณก่อนดีไหม ว่าทำอย่างไรกับรูปของคุณดี….
เมื่อถึงเวลาต้องใส่ซอง
เมื่อ เอกสารทั้ง 3 อย่างครบ และคุณได้ตรวจทานทุกจุดที่ควรระวังแล้ว ถึงเวลาที่คุณจะจับมันใส่ซอง ก่อนใส่ขอให้คุณเรียงเอกสารดังนี้ จดหมายนำ Resume ที่มีรูปถ่าย (ตัวจริง) ติดอยู่ มุมขวาบน และเอกสารประกอบต่างๆ ตามความเหมาะสม เคาะให้สันทั้ง 4 ด้านตรงกันแล้วเย็บมุมซ้ายบนให้เรียบร้อย เพื่อให้ใบสมัครของคุณจะได้อยู่เรียงกัน ไม่กระจัดกระจายหรือตกหล่นเมื่อซองถูกแกะ
พูดถึงซอง ขอแนะนำควรเป็นซองที่ใส่ใบสมัครได้พอดี โดยไม่ต้องพับครึ่งหรือพับสาม การพับทำให้ใบสมัครของคุณดูไม่เรียบร้อย ทั้งที่ก่อนหน้านี้คุณพยายามอย่างมากด้วยการทำทุกอย่างให้ดูดี ไม่พลาดในทุกจุดที่ฉันได้เตือนไป อย่าให้ต้องมาตกม้าตายตอนหลังเลย เมื่อดีแล้วก็ขอให้ดีจนจบ….ก่อนปิดผนึก ให้จ่าหน้าซองถึงบริษัทชื่อเดียวกันกับที่คุณเขียนไว้ในจดหมายนำ…เพื่อ ป้องกันโรค “จดหมายผิดซอง”
ควรตรวจดูอีกครั้งว่ามัน ตรงกันหรือเปล่า ถ้ามั่นใจที่สุดแล้ว ปิดผนึกได้เลย ติดแสตมป์ตามที่ไปรษณีย์กำหนด อย่าให้ภาระการจ่ายค่าปรับต้องตกอยู่ที่ใคร เพราะมันอาจส่งผลให้คุณไม่ได้งานซะก่อน บอกแล้วว่า ดีแล้วต้องดีให้จบ…..
……………………………………………………………………..
จาก….กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น โดย
ปนัฎดา สังข์แก้ว