เมื่อรู้ว่าต้องไปสัมภาษณ์งานสิ่ง ที่จำเป็นต้องรู้อันดับแรกคือ ข้อมูลเกี่ยวกับการนัดสัมภาษณ์ เช่น ตำแหน่งงาน วัน เวลา สถานที่ ชื่อของผู้ที่คุณต้องไปติดต่อ  นอกจากนั้นแล้วควรถามเจ้าหน้าที่ว่าต้องเตรียมหลักฐานเพิ่มเติมอะไรไปอีก บ้าง สำหรับคนที่สมัครผ่านอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ต้องเตรียมหลักฐานไปครบชุด เพราะบริษัทอาจได้รับแค่จดหมายนำ และ Resume ของคุณเท่านั้น สำหรับคนที่ส่งไปเป็นจดหมายอาจไม่ต้องเตรียมเอกสารเพิ่ม เว้นเสียแต่เจ้าหน้าที่จะขอเอกสารบางอย่างเป็นพิเศษ เช่น Transcript ล่าสุด ใบผ่านงาน (กรณีเคยทำงานมาก่อน) หรือรูปถ่ายเพิ่มเติมและเพื่อจะได้เตรียมตัวไปก่อนล่วงหน้า ควรถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่ามีการทดสอบอะไรก่อนการสัมภาษณ์หรือไม่ โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ทราบ แต่ถ้าไม่แจ้ง เพื่อความมั่นใจ คุณไม่ต้องกลัวที่จะถาม เช่น คุณสมัครงานในตำแหน่งวิศวกรโยธา มักต้องมีการทดสอบการคำนวณเกี่ยวกับการก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งแบบคำนวณมือ และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ควรถามให้ชัดเจน เพื่อได้เตรียมตัวก่อนล่วงหน้า หรือถ้าคุณสมัครตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม รู้ว่าต้องทดสอบการใช้คอมพิวเตอร์ คุณควรถามให้ละเอียดว่าต้องทดสอบโปรแกรมอะไรบ้าง ถ้ามีโปรแกรมที่ไม่ถนัดรวมอยู่ด้วย คุณจะได้มีโอกาสไปฝึกเพิ่มเติม

ขอกระซิบบอก จุดนี้แหละที่อาจทำให้คุณได้เปรียบคู่แข่ง ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่มักแจ้งข้อมูลคร่าวๆ เท่านั้นว่าจะทดสอบอะไรบ้าง ไม่ได้ลงในรายละเอียด แต่ไม่ใช่ความลับที่บอกกับผู้สมัครไม่ได้ ถ้าหากคุณกล้าถาม รับรองเจ้าหน้าที่ทุกคนก็กล้าบอก เว้นแต่มีข้อตกลงบางอย่างที่ไม่สามารถบอกได้เท่านั้น

มาถึงอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน คุณควรมั่นใจว่าได้รู้จักลักษณะงานที่จะไปสัมภาษณ์แล้วในระดับหนึ่ง ฉันไม่ได้คาดหวังให้คุณรู้รายละเอียดทั้งหมดหรอก แค่พอให้มองภาพการทำงานออกเท่านั้น หลายคนไปสัมภาษณ์งานทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยว่าต้องไปทำอะไร เขาเรียกให้ไปก็ไป ลองคิดดู ถ้าคุณต้องนั่งสัมภาษณ์ผู้สมัครที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับงานที่ต้องทำเลยสักอย่าง คุณรู้สึกอย่างไร จะยกกรณีศึกษาให้คิดก็ทำไม่ได้ ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานก็ไม่รู้ สุดท้ายคุณจะเลือกใครระหว่างคนที่พอรู้อนาคตตัวเองบ้างกับคนที่มองไม่เห็น อนาคตเอาซะเลย

ข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทเป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณควรหาเก็บเอาไว้ บริษัทส่วนใหญ่มีแนวความคิดหลักในการสัมภาษณ์งานว่า ผู้ที่ต้องการทำงานกับบริษัทต้องรู้จักบริษัทมากพอสมควร หรือพอรู้จักบ้าง อย่างน้อยก็ประเภทธุรกิจ สินค้า ชื่อเสียง หรือผลงานของบริษัทที่ออกสู่สายตาสาธารณชน ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง จำเป็นอย่างยิ่ง

ที่คุณในฐานะอนาคต พนักงานคนหนึ่งของบริษัทต้องรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทบ้าง บางบริษัทอาจกำลังสนับสนุนโครงการหนึ่งของรัฐบาลอยู่อย่างออกหน้าออกตา อีกบริษัทกำลังจะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดมหาชนเพื่อเพิ่มทุนในตลาด หลักทรัพย์ ถ้าคุณรู้ข้อมูลเหล่านี้ไว้ก็ไม่เสียเปล่า จะได้นำไปพูดคุยระหว่างการสัมภาษณ์ได้ ที่สำคัญมันจะทำให้คุณเป็นผู้สมัครที่น่าสนใจมากคนหนึ่งเชียวล่ะ

ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ คุณสามารถหาได้จากสื่อรอบๆ ตัว แต่ที่ฉันขอแนะนำคือจากอินเตอร์เน็ตและจากพนักงานในบริษัทที่คุณรู้จัก

การหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต มีให้ใช้สองแบบ

1. “ข่าวสารของบริษัท”

คุณสามารถค้นหาได้จาก Search Engine ทั่วไป เช่น www.google.com www.altavista.com คีย์ชื่อบริษัทเข้าไปในช่องค้นหา กด Enter แล้วคุณจะเห็นเว็บเพจต่างๆ ที่มีข้อมูลของบริษัทนั้นๆ อยู่ คลิกเข้าไปอ่านข้อมูลแต่ละเว็บ ข้อมูลทั้งหมดมีรูปแบบหลากหลายมาก ทั้งข่าวปัจจุบันและข่าวในอดีตของบริษัท โฆษณา ประวัติบริษัท คณะผู้บริหาร ส่วนใหญ่ข้อมูลที่ค้นเจอในแบบแรกนี้เป็นข้อมูลที่ผ่านการใส่สีตีข่าวแล้ว อาจอยู่ในรูปแบบบทความจากหนังสือพิมพ์ บทวิจารณ์ของนักวิชาการ

ยก ตัวอย่างเช่น บริษัทเอกำลังมีโครงการประชาสัมพันธ์องค์กรด้วยการระดมทุนช่วยเหลือเด็ก พิการอยู่ ข้อมูลที่คุณค้นเจออาจเป็นบทความเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ผลประโยชน์ที่สังคมได้รับจากโครงการนั้น หรืออาจเป็นบทวิจารณ์จากนักวิชาการทางสื่อสารมวลชนที่พูดถึงไว้ว่าโครงการ ดังกล่าวเป็นโครงการที่ไม่ได้มีความตั้งใจช่วยเหลือเด็กพิการอย่างจริงจัง เพียงแค่ต้องการสร้างภาพขององค์กรเท่านั้น ข้อมูลที่คุณได้รับมีทั้งด้านบวกและด้านลบ คุณควรเก็บทั้งหมดเอาไว้เป็นคลังความรู้ส่วนตัว มันอาจเป็นตัวช่วยสุดท้ายที่คุณสามารถเรียกใช้ในขณะกำลังสัมภาษณ์งานก็ได้

2.“เว็บไซต์ของบริษัท”

ปัจจุบันบริษัทที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่มัก มีเว็บไซต์ของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมกันทั้งนั้น สิ่งที่คุณเจอในเว็บของบริษัทมักเป็นข้อมูลที่เป็นทางการ เช่น ประวัติบริษัท ผู้บริหาร โครงสร้างองค์กร สินค้า และข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัท ถ้าคุณไม่มีเวลามากพอที่จะเข้าไปค้นหาข้อมูลที่หลากหลายอย่างวิธีแรก วิธีที่สองนี้นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย นอกจากไม่เสียเวลาแล้ว คุณยังได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทที่ไม่มากเกินไปนัก แต่มันอาจไม่ใช่ข่าวสารที่ทันสมัยและครอบคลุมอย่างแบบแรก ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณมากกว่าว่าต้องการรู้แค่ไหน แต่ถ้าคุณพอมีเวลา ฉันขอแนะนำให้เลือกใช้ทั้งสองแบบ จะทำให้คุณมีข้อมูลหลากหลายและดูเป็นผู้รอบรู้มากขึ้นทันที…น่าสนใจใช่ไหม

ส่วนข้อมูลจากพนักงานในบริษัทที่คุณรู้จัก อย่างที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ มันเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ทำให้คุณรู้จักบริษัทมากขึ้น ไม่ใช่แค่รู้ว่าหน้าตา บุคลิกภาพเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่คุณจะรู้ถึงนิสัยขององค์กรเชียวล่ะ ข้อมูลส่วนนี้ถ้าคุณสามารถหามาได้จะช่วยให้คุณเข้าใจกรณีศึกษาต่างๆ ที่ผู้สัมภาษณ์อาจยกมาถามเพื่อให้คุณคิดวิธีการแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น

เช่น คุณไปสัมภาษณ์งานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมและพัฒนา ผู้สัมภาษณ์ถามว่า คุณมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ทราบความต้องการฝึกอบรมที่แท้จริงของพนักงานใน บริษัท ในเมื่อคุณรู้ข้อมูลของบริษัทมาว่าเป็นองค์กรแบบไทยๆ บริหารงานกันแบบครอบครัว การฝึกอบรมและพัฒนายังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน พนักงานยังไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรม คุณสามารถตอบได้ทันทีเลยว่า คุณต้องเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารทุกฝ่าย เพื่อทำความเข้าใจให้เขาเห็นความสำคัญของการฝึกอบรมก่อน แล้วจึงสอบถามลึกเข้าไปถึงปัญหาในการทำงานของเขาว่ามีอะไรบ้าง เมื่อรู้ปัญหาการทำงาน คุณก็จะรู้ว่าความต้องการฝึกอบรมที่แท้จริงของพนักงานแต่ละหน่วยงานคืออะไร เห็นได้ว่าข้อมูลจากพนักงานในบริษัทจะช่วยคุณในการสัมภาษณ์เชิงลึกมากกว่าข้อมูลทั่วๆ ไป ถ้าคุณไม่รู้ก็ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าพอมีแหล่งข้อมูลอยู่บ้าง ฉันไม่อยากให้คุณทิ้งโอกาสนั้นนะ

ทั้งหมดคือสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่คุณควรรู้และเตรียมเอาไว้ก่อนการไปสัมภาษณ์งานในทุกที่ เริ่มต้น ที่ตำแหน่งงาน วัน เวลา สถานที่ ชื่อผู้ที่คุณจะต้องไปติดต่อ หลักฐานการสมัครงานที่ต้องนำไปเพิ่มเติม การทดสอบแบบต่างๆ รายละเอียดตำแหน่งงาน รวมทั้งข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทที่คุณจะไปสัมภาษณ์

เหมือน กับการเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องเรียนรู้เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางให้ดีก่อน และเพื่อเพิ่มความมั่นใจ คุณต้องเช็คสภาพรถด้วยว่าพร้อมออกเดินทางไปกับคุณหรือไม่ น้ำมันมีพอหรือเปล่า ถ้าไม่พอ แวะเติมก่อน แล้วคุณจะรู้ว่าความสุขตลอดการเดินทางโดยปราศจากความกังวลเป็นอย่างไร…

เมื่อถึงวันสัมภาษณ์งาน

การแต่งตัว

มาเริ่มที่การแต่งตัวกันก่อนดีกว่า ถามเข้ามาเยอะมากๆ ว่า “หนูต้องแต่งตัวอย่างไร ใส่เสื้อสีอะไรดี นุ่งกางเกงได้ไหม ต้องเป็นรองเท้าคัชชูด้วยเหรอ แล้วผมเผ้าล่ะจะจัดการอย่างไร….” สารพัดปัญหาที่คนต้องไปสัมภาษณ์งานกังวล จนฉันเองไม่รู้จะแนะนำอย่างไร เพราะไม่มีกฎตายตัวที่นักทฤษฎีด้านการสมัครงานคนใดพิสูจน์ออกมาว่าการแต่งตัวแบบไหนจะทำให้ได้งานแน่นอน

สิ่งที่ฉันแนะนำเพื่อน น้อง หรือคนอื่นๆ ที่ถามมาคือ หลัง จากแต่งตัวเสร็จ ลองหมุนตัวหน้ากระจกสักหนึ่งรอบ ถ้าตอบตัวเองได้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ฉันกำลังจะไปสัมภาษณ์งาน “ นั่นหมายถึง คุณแต่งตัวได้เหมาะสมดีแล้ว แต่ถ้ามีอาการไม่มั่นใจด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ ลองหมุนตัวอีกสักรอบสองรอบหรือมากกว่านั้นก็ไม่ว่ากัน แล้วถามตัวเองอีกครั้ง ถ้ายังไม่มั่นใจอีก คุณต้องตัดสินใจเปลี่ยนบางอย่างในตัวคุณแล้วล่ะ อาจเป็นกระโปรงที่สั้นหรือฟิตมากเกินไป เสื้อรัดรูป คอลึกขนาดนั้น รองเท้าที่ดูอย่างไรก็เหมือนจะออกไปงานปาร์ตี้กลางคืนกับเพื่อนมากกว่า ทรงผมที่ดูแล้วดูอีกก็เหมือนคนเพิ่งตื่นนอน

เมื่อรู้แล้วว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณขาดความมั่นใจ ก็เปลี่ยนซะ หมุนตัวทิ้งท้ายอีกรอบเพื่อยืนยันคำตอบ แล้วคุณจะออกจากบ้านพร้อมความมั่นใจอันเต็มเปี่ยม

หลายคนอ่านถึงตรงนี้ อาจงงว่า “ความเหมาะสม” เป็นอย่างไร ช่วยอธิบายให้เห็นภาพหน่อยได้ไหม? ได้สิ…ความสุภาพกับความเหมาะสมเป็นพี่น้องกัน ที่ใดมีความสุภาพ ความเหมาะสมจะตามมาเอง การไปสัมภาษณ์งานก็เหมือนกัน คุณควรให้ความเคารพสถานที่ บุคคลที่คุณจะไปสัมภาษณ์ ด้วยการแต่งกายอย่างสุภาพ

การแต่งกายอย่างสุภาพในการสัมภาษณ์งานไม่ มีกฎตายตัว ต้องเป็นกระโปรงหรือกางเกง เสื้อสีแดงหรือสีดำ รองเท้าคัชชูหรือรองเท้าเปลือยส้น ผูกผมหางม้าหรือปล่อย
สบาย ขอเพียงของทุกชิ้นที่ประดับอยู่บนร่างกายของคุณ ดูแล้วไปด้วยกันได้ เข้ากันได้ดี ไม่ใช่รองเท้าจะไปงานวันเกิด กระโปรงอยากไปงานศพ แล้วยังพยายามเอามันมาสัมภาษณ์งานด้วยกันอีก ขาดความกลมกลืนเป็นที่สุด อย่างนี้ไม่ว่าให้ดีไซเนอร์มือหนึ่งหรือวินมอร์เตอร์ไซด์มือรองดูก็ให้ ความคิดเห็นเดียวกัน “มันจะแต่งตัวไปไหนกันแน่”

ถ้าภาพของ คุณที่เดินเข้ามาในห้องสัมภาษณ์งานไม่ทำให้ผู้ที่รออยู่ในห้องรู้สึกติดใจ กับอะไรที่อยู่บนตัวคุณ คุณผ่านแล้วล่ะสำหรับการแต่งตัว เพื่อเช็คความมั่นใจ ก่อนออกจากบ้าน คุณลองเดินผ่านหน้าคนในครอบครัวสักรอบสิ ถ้าเขาไม่เอ่ยปากทักอะไร ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีคำพูดหรือสีหน้าแปลกๆ คุณควรพิจารณาตัวเองและเปลี่ยนซะก่อนที่จะต้องออกไปเจอของจริง คราวนี้มั่นใจแล้วหรือยัง…

เมื่อออกจากบ้าน เกิดเจอการจราจรที่ติดแบบไม่มีสาเหตุ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งที่คุณเผื่อเวลาในการเดินทางไว้แล้ว ให้รีบโทรแจ้งบริษัททันทีว่าคุณกำลังอยู่ระหว่างการเดินทาง ถึงตรงไหนแล้ว และเจอกับปัญหาอะไรอยู่ อย่างน้อยบอกให้เขารู้ว่าคุณยังยืนยันสิทธิ์การเข้าสัมภาษณ์อยู่นะ บริษัทจะได้จัดสรรคิวได้อย่างเหมาะสม ด้วยการเรียกคนอื่นมาสัมภาษณ์แทนคุณก่อน หรือถ้าคุณเป็นคนเดียวที่ถูกเรียกสัมภาษณ์วันนี้ เขาจะได้แจ้งผู้สัมภาษณ์ได้ว่า คุณกำลังเดินทางมา และอีกกี่นาทีจะมาถึง

มาถึงบริษัทสิ่งแรกที่คุณควรทำถ้าพอมีเวลาคือ การเข้าห้องน้ำเพื่อเช็คความเรียบร้อยของตัวเองอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าสภาพของคุณตอนก่อนออกจากบ้านกับตอนนี้ไม่ต่างกันมากนัก บางคนต้องเดินทางด้วยรถเมล์ แดด ฝน เขม่ารถ อาจเป็นตัวการทำให้คุณกลายร่างได้ แก้ปัญหานี้ด้วยการเข้าไปเช็คความเรียบร้อยในห้องน้ำดีที่สุด หน้าตา ผมเผ้า เสื้อผ้าอยู่ในสภาพดีหรือเปล่า หน้าโทรมก็เติมเครื่องสำอางสักเล็กน้อย หวีผมให้เข้าทรง จัดเสื้อผ้าให้อยู่ในแบบที่ควรเป็น มั่นใจแล้ว ถึงเดินออกมาแจ้งกับโอเปอเรเตอร์ด้วยรอยยิ้มว่าคุณมาสัมภาษณ์งาน พร้อมบอกชื่อผู้ที่คุณต้องติดต่อด้วย

การยิ้มแย้มให้กับคนอื่นๆ ที่คุณไม่เคยรู้จักมาก่อนทำไม่ยากหรอก ลองหัดไว้ให้เป็นนิสัย นอกจากทำให้คุณดูดี สดใสแล้ว รอยยิ้มของคุณอาจเป็นใบเบิกทางสำคัญสำหรับสร้างมิตรภาพและสร้างความประทับใจได้ ลองคิดดู ถ้าคุณต้องนั่งรอสัมภาษณ์งานในบริเวณรับรองลูกค้าของบริษัทเป็นเวลานาน โดยไม่ยิ้มแย้มกับใครเลย หน้าตาเครียดเหมือนแบกโลกทั้งโลกไว้ ใครจะอยากมองหน้าคุณ ไม่ประทับใจตั้งแต่แรกเห็นแล้วล่ะ ถ้าคุณเกิดต้องการความช่วยเหลือ เช่น ฝากเอกสารตอนคุณเข้าห้องน้ำ สอบถามคิวการสัมภาษณ์งาน ขอยืมยางลบ น้ำยาลบคำผิด และอะไรอีกหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะนั้น คุณกล้าขอความช่วยเหลือจากจากคนอื่นๆ ไหม ทางที่ดี คุณควรสร้างสัมพันธ์ไว้ตั้งแต่ก้าวแรกที่ก้าวเข้ามาในบริษัทเลยดีกว่า รับรองปลอดภัยกว่ากันเยอะ เริ่มตั้งแต่พนักงานรักษาความปลอดภัย โอเปอเรเตอร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล รวมทั้งเพื่อนร่วมสัมภาษณ์งานของคุณ ไม่เสียเกียรตินักหรอก ลองทำดู

บุคลิกภาพ

มาถึงอีกสิ่งสำคัญที่คุณควรใส่ใจ คือ บุคลิกภาพ ไม่ว่าการเดิน การนั่ง การพูดจา พยายามรักษามันให้อยู่ในกรอบของความเหมาะสม คุณไม่มีทางรู้ได้เลย ขณะที่คุณก้าวเท้าแรกเข้ามาในบริษัทนั้น มีสายตาของใครมองคุณอยู่บ้าง และจะสำคัญมากถ้าสายตานั้นเป็นสายตาของผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจรับหรือ ไม่รับคุณเข้าทำงาน ดังนั้น ห้ามพลาดเชียวล่ะ

เมื่อต้องนั่งรอเข้า สัมภาษณ์งานนานกว่าที่คุณคิด อย่าแสดงอาการหงุดหงิดให้คนอื่นเห็น พยายามรักษาภาพพจน์เอาไว้ เชื่อฉันสิ บริษัทที่ดีส่วนใหญ่ เขาไม่ให้ผู้สัมภาษณ์ต้องมาอยู่ในกระบวนการสัมภาษณ์นานเกิน 3ชั่วโมงหรอก ถ้าเกินกว่านั้น คุณจะตัดสินใจเดินออกไปจากบริษัทฉันก็ไม่ว่าอะไร ดีเสียอีกจะได้ทำให้บริษัทนั้นรู้ว่าเขาเสียคนดีมีความสามารถไปหนึ่งคน เพราะระบบการสัมภาษณ์งานที่ไม่ได้เรื่อง ถ้ารู้สาเหตุแล้วเขาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นได้ คุณจะเป็นคนที่มีพระคุณกับเขาอย่างมาก

ระหว่างที่นั่งรอสัมภาษณ์ ฉันมีกิจกรรม 2 อย่างให้คุณได้ลองทำ

1. อย่างแรกคือ การหยิบวารสารของบริษัทที่วางอยู่บนโต๊ะมาอ่าน
รับรอง จะทำให้คุณไม่หงุดหงิดกับการรอคอย แถมคุณยังได้รับรู้ข้อมูลที่อัพเดทที่สุดของบริษัทจากวารสารนั้นอีกด้วย ส่วนใหญ่วารสารประจำบริษัทจะรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างที่เป็นปัจจุบันของ บริษัทไว้ ไม่ว่าสินค้าตัวล่าสุด ผู้บริหารคนใหม่ ผลประกอบการเมื่อไตรมาสที่แล้ว หรือกิจกรรมสัมพันธ์ต่างๆ ที่บริษัทได้จัดขึ้น คุณสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรได้อย่างรวดเร็วจากวารสารเพียงฉบับเดียวที่ อยู่ในมือคุณ มันอาจเป็นข้อมูลสนับสนุนที่ดีของข้อมูลที่คุณค้นมาก่อนหน้านี้ก็ได้

2. การพูดคุยกับเพื่อนร่วมสัมภาษณ์งานของคุณ
จะ เป็นตำแหน่งเดียวหรือคนละตำแหน่งกับคุณก็ได้ไม่มีปัญหา อย่างน้อยการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในช่วงเวลาสั้นๆ อาจทำให้คุณได้รู้ข้อมูลของบริษัทในส่วนที่คุณไม่รู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มาสัมภาษณ์คนละตำแหน่งกับคุณ เขาจะมีข้อมูลในขอบข่ายงานที่เขารับผิดชอบ ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน และคุณอาจได้รับความรู้รอบตัวอื่นๆ จากเพื่อนใหม่ของคุณก็ได้

ฉันเคย ไปสัมภาษณ์งานที่บริษัทแห่งหนึ่ง ขณะรอสัมภาษณ์ฉันเบื่อมาก มองซ้ายมองขวาไม่เจอใคร เห็นแต่ผู้หญิงคนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้างๆ เพียงคนเดียวเท่านั้น ด้วยความที่เป็นคนช่างพูดเลยเอ่ยปากคุยกับเธอก่อน จนถึงวันนี้ฉันก็ยังได้คุยกับเธออยู่ตลอด เรากลายเป็นเพื่อนกันไปแล้ว ถึงแม้ฉันไม่ได้งานอย่างที่หวัง แต่ฉันก็ได้เพื่อนดีๆ กลับมาหนึ่งคน มันคุ้มค่ามากกับการตัดสินใจออกไปสัมภาษณ์งานในวันนั้น

จาก….กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น โดย

ปนัฎดา สังข์แก้ว